รวม 11 มุกใช้ซ้ำที่โดดเด่นใน "ยามิชิไบ"

ในบรรดายามิชิไบภาคปกติรวม 10 Seasons 130 ตอนนั้น ผู้สร้างอาจจะสร้างเหตุการณ์ซ้ำๆ ที่เล่นมุกเดิมๆ ใช้องค์ประกอบ บริบท และสถานที่ต่างๆ ที่อาจทำให้เราคุ้นเคยว่า มันอาจจะคลับคล้ายคลับคลากับตอนที่ผ่านๆ มา จนสังเกตได้ว่านั่นเป็น "มุกใช้ซ้ำ" ที่ทำให้เราพบเจอบ่อยๆ เมื่อเราดูครบในทุกๆ ตอนครับ เพื่อเป็นการเตรียมต้อนรับ Season 11 ในหัวข้อ "ทำซ้ำ" ผมจึงสำรวจและรวบรวมตอนต่างๆ ที่มีความคล้ายคลึงกัน เป็นมุกใช้ซ้ำที่มีความโดดเด่นรวม 11 อย่างครับ


(1) ห้องเช่าแถมผีสิง ถูกดีจริงจนผวา

เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับบ้านช่องห้องหอ ที่มักจะมีตัวละครย้ายเข้ามาอยู่อาศัยใหม่ๆ โดยหารู้ไม่ว่า ค่าเช่าแสนถูกแบบสุดๆนั้น อาจจะต้องแลกด้วยความสยดสยองโดยไม่คาดคิด บางตอนก็เจอผีในห้องเลย หรือไม่ก็เจอผีข้างๆ ห้อง ที่คอยปั่นหัวตัวละครต่างๆ ให้ประสบกับเรื่องลึกลับจนแทบจะย้ายออกไม่ทันเลยทีเดียว สำหรับตอนที่เกี่ยวข้องกับห้องเช่าจะประกอบไปด้วย...

Season 1 ตอนที่ 1: ยันต์ของหญิงสาว
Season 3 ตอนที่ 3: หนู
Season 4 ตอนที่ 3: กรรไกรตัดผ้า
Season 5 ตอนที่ 8: คนข้างห้อง
Season 7 ตอนที่ 6: ระเบียง

จะว่าไปแล้ว ใน Season ที่ 7 ใช้หัวข้อที่เกี่ยวข้องไปในทางบ้านช่องห้องหอต่างๆ ซึ่งอาจจะคล้ายคลึงกัน แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการย้ายเข้าแต่อย่างใด มีตอนที่ 6 เท่านั้นที่เล่นมุกดังกล่าวครับ 


(2) บ้านผีมีไว้ท้า มากี่ทีก็ไม่เข็ด

เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มคนที่ชอบไป "ล่าท้าผี" "ขี้โม้ดาเมชิ" หรือ "ทดสอบความกล้า" ในสถานที่รกร้าง เพื่อลองของท้าทายผีให้เข้ามาหลอกมาหลอน ซึ่งทุกตอนที่มีเหตุการณ์แบบนี้ ตัวละครเจอดีไปหมดทุกราย จะล้มหายตายจาก ถูกสิงอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับความหลอนที่หลากหลาย สำหรับตอนที่มีเหตุการณ์บุกรุกสำรวจผีก็จะมี...

Season 1 ตอนที่ 7: ขัดแย้ง
Season 3 ตอนที่ 8: ตุ๊กตาฮินะ
Season 4 ตอนที่ 2: ตู้ปลา
Season 8 ตอนที่ 1: มอญซ่อนผ้า
Season 10 ตอนที่ 13: เรื่องที่หนึ่งร้อย


(3) ชื่อพ้องคล้องจองเสียง แปลเทียบเคียงเรียงเบ็ดเสร็จ


ในบางตอน ผู้สร้างได้สร้างชื่อตอนในรูปแบบคำพ้องรูปพ้องเสียง หรือ มุกเล่นคำ (ダジャレ - ดาจาเระ) ถ้าอ่านชื่อตอนแบบเผินๆ จะเกี่ยวกับสิ่งนี้ แต่กลับแฝงความหมายพ้องเสียงไปเป็นอีกอย่าง โดยเฉพาะชื่อตอนใน Season 6 มักตั้งชื่อตอนแบบมุกคำพ้องเสียงทุกตอน อย่างชื่อตอน "ซากุระ" โดยปกติจะใช้ตัวคันจิ "桜" แต่เขียนเป็น "咲暗" แทน ซึ่งเป็นการพ้องความหมายว่าเป็นซากุระที่บานในความมืด นั่นเอง สำหรับตอนที่ใช้มุกเล่นคำนอกเหนือจาก Season 6 จะมี...

Season 1 ตอนที่ 4: เส้นผม
Season 1 ตอนที่ 8: เทพธิดาร่ม
Season 5 ตอนที่ 7: คุณแม่ลักซ่อน
Season 8 ตอนที่ 8: เคารพศพ
Season 9 ตอนที่ 10: หม้อไฟหมูป่า

คำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเล่นคำ สำหรับ Season 1 ตอนที่ 4 ชื่อตอนว่า "かみ" (คามิ) ซึ่งสามารถแปลงเป็นตัวคันจิได้ 3 ตัว คือตัว "髪" (เส้นผม), "紙" (กระดาษ), และ "神" (เทพพระเจ้า) เนื้อหาในตอนมีครบทั้งสามสิ่งเลยครับ ต่อมาในตอนที่ 8 ที่มาเป็นตัวคันจิ "傘神様" (คาสะคามิซามะ) แต่ผีในตอนนี้เป็น "傘噛み様" ซึ่งหมายถึง "ผีคาบร่ม" นั่นเอง

สำหรับตอน "คุณแม่ลักซ่อน" ที่ชื่อตอนจะเขียนด้วยคันจิ "隠連母" ถ้าแปลตรงๆ คือ "คุณแม่ที่ลักซ่อนแบบต่อเนื่อง" สำหรับเสียงอ่านชื่อตอนจะอ่านว่า "かくれんぼ" (คะคุเร็นโบ) ที่แปลว่า "เล่นซ่อนแอบ" ซึ่งสามารถเขียนเป็นตัวคันจิเป็น "隠れん坊" นั่นเอง

สำหรับตอน "เคารพศพ" ชื่อตอนที่เป็นตัวคันจิ "柩仰" ซึ่งอ่านว่า "きゅうこう" (คิวโคว) ซึ่งเป็นคำพ้องเสียงของตัวคันจิตัว "休校" ที่แปลว่า "หยุดเรียน"

สำหรับตอน "หม้อไฟหมูป่า" นั้น ชื่อตอนสามารถแปลเป็นอีกอย่างได้ว่า "ぼたん鍋" (โบตันนาเบะ) ซึ่งคนญี่ปุ่นจะเอาชื่อดอกไม้ไปตั้งเป็นชื่อหม้อไฟ โดยใช้ชื่อดอกโบตั๋นแทนที่ชื่อของเนื้อหมู และในตอนนี้ มีการใช้ลูกเล่นแฝงลงไปว่า "น้องโบตั๋น" ที่เราเห็นนั้น แท้จริงแล้วคือหมูป่าที่จำแลงมาเป็นเพื่อนกับน้องนาโอะครับ


(4) เลขสี่ต้องเลี่ยงเคล็ด เดี๋ยวชีพเด็ดม่วยมรณา

เลข 4 ในทางความเชื่อ ถือเป็นเลขอัปมงคลต่อทางเอเชียตะวันออกในหลายๆ ประเทศ ในภาษาญี่ปุ่น เลข 4 (四) อ่านเสียงจีนว่า "し" (ชิ) ซึ่งไปพ้องเสียงกับตัว "死" ที่แปลว่า "ความตาย" ทำให้ผู้คนที่มีความเชื่อโชคลาง มักจะเลี่ยงเลข 4 ออกไป อย่างในโรงพยาบาล โรงแรม ที่จอดรถ สถานที่ที่มีการใส่ลำดับเลข มักจะไม่มีห้องที่ 4 ชั้นที่ 4 หรือเลี่ยงการใส่รหัสที่มีเลข 4

ดังนั้น ในยามิชิไบ ก็มักจะเอาอาถรรพ์เลข 4 มาเป็นองค์ประกอบในเนื้อเรื่องอยู่บางตอน หรือบางเหตุการณ์ก็มีการแอบแฝงอาถรรพ์เลข 4 ลงไปในนั้น ตอนที่เกี่ยวข้องจะประกอบไปด้วย

Season 1 ตอนที่ 5: ชั้นถัดไป - (ลิฟต์ประหลาดที่พาไปชั้นใต้ดินที่ 4 และ 13)
Season 3 ตอนที่ 9: คนที่ 4(ห้ามจับมือกับคนที่ 4 ผีจะกัดจนแขนขาด)
Season 5 ตอนที่ 6: เทพทวงคืน(กดปุ่ม 9 เป็นจำนวน 4 ครั้ง ซึ่ง 9 ภาษาญี่ปุ่นแปลว่า きゅう-คิว ซึ่งพ้องเสียงกับภาษาอังกฤษของคำว่า Kill, และถ้าอ่านเป็นเสียงจีนจะไปพ้องความหมายกับ "ความทุกข์ทรมาณ")
Season 7 ตอนที่ 5: แจ้งการยุติการให้บริการ(ตัวละครไปนอนพักโรงแรมที่ห้อง 404 = Life NOT FOUND)
Season 9 ตอนที่ 3: แกะตัวที่ 44(ถ้านอนนับถึงแกะตัวที่ 44 จะเกิดอาเพศ)


(5) คู่รักผีผลักไส ไล่ส่งไปสุดเวหา

มีหลายๆ ตอน ที่เรื่องน่ากลัวมักจะอุบัติขึ้นกับตัวละครที่เป็นคู่รักชาย-หญิง โดยเฉพาะคู่รักที่ยังคบเป็นแฟน หรือพึ่งแต่งงานใหม่ หรือแต่งงานมาไม่นานนัก แม้กระทั่งอยู่จนแก่ชราก็ยังเจอ ราวกับผู้สร้างแต่งมาประชด หรือทดสอบความรักเพื่อที่จะก้าวผ่านอุปสรรคความหลอนต่างๆ อย่างไงอย่างงั้น เรื่องผีที่ประสบต่อคู่รัก มีหลายตอนด้วยกัน ประกอบไปด้วย

Season 2 ตอนที่ 13: ป๋องแป๋งต้อนรับ
Season 3 ตอนที่ 3: หนู
Season 3 ตอนที่ 5: พิพิธภัณฑ์สัตว์สตาฟ
Season 3 ตอนที่ 10: ม้าหมุน
Season 6 ตอนที่ 3: เสียงเตือนจากสายลม
Season 6 ตอนที่ 4: บูชาบึง
Season 6 ตอนที่ 8: เซียมซีทะเล
Season 7 ตอนที่ 3: ห้องรับแขก
Season 7 ตอนที่ 6: ระเบียง
Season 7 ตอนที่ 8: ไอ
Season 8 ตอนที่ 2: ครบรอบวันตาย
Season 8 ตอนที่ 6: ผลการตกปลา
Season 10 ตอนที่ 6: จุดรวมขยะ
Season 10 ตอนที่ 7: เรื่องที่เกิดขึ้นในอุโมงค์
Season 10 ตอนที่ 12: เกี่ยวก้อยสัญญา

(6) ดูแล้วแคล้วน้ำตา ผีดราม่ามาทำเศร้า

ยามิชิไบก็สร้างเหตุการณ์ที่ "ดราม่า" น้ำตาแตกได้ มีทั้งฉากดราม่าแบบเศร้า ที่ตัวละครเจอโศกอนาถกรรม ที่ทำเอาจิตตกได้ หรือไม่ก็เป็นดราม่าแบบซึ้งๆ ที่ตัวละครได้สมหวังกับบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งบางตอน ผู้สร้างไม่ได้เน้นความหลอน แต่กลับไปเน้นความดราม่าแทน โดยเนื้อหาที่ว่านั้น ประกอบไปด้วย...

Season 2 ตอนที่ 6: นาโอะจัง
Season 5 ตอนที่ 10: ดอกไม้เสี่ยงทาย
Season 6 ตอนที่ 3: เสียงเตือนจากสายลม
Season 6 ตอนที่ 9: เล่นกับโคลน
Season 6 ตอนที่ 11: ความทรงจำที่ถูกแช่แข็ง
Season 7 ตอนที่ 3: ห้องรับแขก
Season 9 ตอนที่ 5: ตุ๊กตาเสือ
Season 9 ตอนที่ 6: วัวส่งวิญญาณ
Season 9 ตอนที่ 10: หม้อไฟหมูป่า
Season 10 ตอนที่ 12: เกี่ยวก้อยสัญญา


(7) ฝากไว้ให้ข้อคิด อย่าทำผิดนะคนเรา

ช่วงที่ Season 1 มาใหม่ๆ มีหลายบทความสามารถถอดแง่คิดคติสอนใจ ในด้านต่างๆ จนทำให้ผมและบางคนอาจจะเข้าใจผิดมาตลอดว่า ทุกตอนมีการสอดแทรกเนื้อหาเชิงสะท้อนสังคมไว้ แต่ลองคิดดูอีกทีแล้ว ผู้สร้างคงจะไม่แทรกไปหมดทุกตอนถึงขนาดนั้น นอกจากคนดูหลายๆ คนรวมผม อาจเอาไปวิเคราะห์ตีความเป็นอะไรได้หลายๆ อย่างก็ว่าได้

การตีความที่ทำให้ได้ข้อคิดมันจึงเป็นไปได้ในหลายๆ ตอน ในส่วนนี้ผมจะเอาตอนที่มีข้อคิดของการ "สั่งสอนคนทำผิด" เหมือนคนโบราณสอนเด็กว่า ถ้าเป็นเด็กดื้อผีจะมาหลอกเอาชีวิต ในทำนองนี้ ในชีวิตคนเรา มีหลายคนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎต่างๆ อย่างเคร่งครัด จนผู้สร้างเอาประเด็นนี้มาเล่นในยามิชิไบอยู่หลายๆ ตอน โดยประกอบไปด้วย 

Season 1 ตอนที่ 8: เทพธิดาร่ม (จงทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด)
Season 1 ตอนที่ 13: ผู้ทรมาณ (อย่าสอดรู้สอดเห็น)
Season 2 ตอนที่ 11: ผลงานที่เก็บได้ (อย่าละเมิดลิขสิทธิ์ แอบอ้างผลงานผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง)
Season 6 ตอนที่ 5: หยาดฝน (อย่าขโมยของ)
Season 7 ตอนที่ 2: เด็กที่นอนไม่หลับ (ทำผิดจงยอมรับผิด อย่าปกปิดหรือแก้ตัว)
Season 7 ตอนที่ 4: ห้องแสดงภาพ (ห้ามถ่ายรูปโดยไม่อนุญาต)
Season 7 ตอนที่ 12: ห้องลองเสื้อ (ลองเสื้อได้ 1 คน ต่อ 1 ชุดเท่านั้น)


(8) เทศกาลมีเรื่องเล่า บอกรากเหง้าเคล้าความหลอน

ยามิชิไบบางตอนที่ออกอากาศไป อาจจะตรงกับเทศกาลหรือวันสำคัญของทางญี่ปุ่นอยู่ จึงทำให้เราเห็นการสอดแทรกวัฒธรรมขณะที่ดูไปด้วย ดั่งเป็น Soft Power ที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักวัฒนธรรม งานประเภณีและความเชื่อของญี่ปุ่นได้นั่นเอง และในวันที่ออกอากาศจริงของแต่ละตอน มักจะตรง ใกล้เคียง หรืออยู่ในช่วงนั้นพอดี ก็เลยมีตอนที่เกี่ยวกับเทศกาลนั่นเอง สำหรับตอนที่เกี่ยวข้อง จะประกอบไปด้วย...

Season 3 ตอนที่ 6: เทศกาลฟากโน้น (ไม่ได้เกี่ยวกับวันสำคัญใดๆ แต่เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับเทศกาลญี่ปุ่นโดยทั่วไป)
Season 3 ตอนที่ 8: ตุ๊กตาฮินะ (เกี่ยวกับวันเด็กผู้หญิง ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม)
Season 8 ตอนที่ 4: ปาถั่ว (เกี่ยวกับเทศกาลปาถั่วไล่ยักษ์ ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์)
Season 9 ตอนที่ 6: วัวส่งวิญญาณ (เกี่ยวกับเทศกาลระบำบง จัดขึ้นวันที่ 13 - 16 สิงหาคม)
Season 10 ตอนที่ 6: จุดรวมขยะ (ประชดวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์)


(9) โรง(พยา)บาลที่พำนัก คนป่วยหนักจงพักผ่อน

เรื่องผีทั่วๆ ไปนั้น มักจะต้องมีสักเรื่องที่เอา "โรงพยาบาล" มาเป็นฉากหลัก ซึ่งยามิชิไบเริ่มมีมาตั้งแต่ตอน "ซัมไบ" หลังจากนั้น แม้ว่าจะไม่ค่อยเห็นฉากโรงพยาบาลบ่อย แต่ก็ยอมรับว่า โรงพยาบาลสามารถสร้างบรรยากาศความหลอนได้ทุกครั้ง โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน สำหรับตอนของยามิชิไบที่เน้นฉากโรงพยาบาลจะประกอบไปด้วย...

Season 1 ตอนที่ 2: ซัมไบ
Season 3 ตอนที่ 4: ห้องคนไข้ที่คึกครื้น
Season 6 ตอนที่ 6: ซากุระ
Season 10 ตอนที่ 7: เรื่องที่เกิดขึ้นในอุโมงค์
Season 10 ตอนที่ 10: ตึกของอีกฝั่ง


(10) กายาโปเกม่อน ต้องหนีก่อนกลายเป็นเป้า

กายาโปเกม่อนที่ว่า ก็คือ "สัตว์ประหลาด" ครับ ในบางตอนมีผีโผล่มาในรูปร่างของสัตว์ประหลาดสุดขยะแขยง หรือกลายพันธุ์จนแตกต่างไปจากปกติเป็นอย่างมาก นั่นเป็นหัวข้อเด่นของ Season 3 โดยเฉพาะ แต่ใช่ว่าจะเป็นแบบนั้นไปทั้งหมด บางตอนเราอาจจะเจอสัตว์ประหลาดในตอนอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก Season 3 ก็ได้ สำหรับสัตว์ประหลาดในมุมมองของผมคือ... มีความผิดรูปมนุษย์มนา ไม่เป็นผู้ไม่เป็นคน หรือมีรูปร่างคล้ายสัตว์หรือแมลง สำหรับตอนที่ผีดูเป็นสัตว์ประหลาดเอามากๆ จะมี...

Season 1 ตอนที่ 6: ชั้นวางสัมภาระ
Season 3 ตอนที่ 2: อุโมงค์
Season 3 ตอนที่ 3: หนู
Season 3 ตอนที่ 6: เทศกาลฟากโน้น
Season 3 ตอนที่ 11: นาฬิกานกร้อง
Season 3 ตอนที่ 12: ในน้ำ 
Season 3 ตอนที่ 13: ภาพวาด
Season 5 ตอนที่ 13: ผู้หญิงยั่วยวน
Season 8 ตอนที่ 10: รอยเท้าบนหิมะ
Season 9 ตอนที่ 9: ฉลองงู


(11) พิเศษบทสิบสาม สุดเกรงขามเกินคาดเดา

ความพิเศษของตอนที่ 13 ที่เป็นบทส่งท้ายของแต่ละ Season นั้น มักจะสร้างเนื้อหาที่ให้ความรู้สึกพิเศษ และความแตกต่างกับอะไรบางอย่าง เหมือนเป็นการสร้างความทรงจำในบทส่งท้ายของแต่ละ Season แต่อาจไม่ได้มีความพิเศษในทุกๆ  Season ขนาดนั้น

ใน Season 3 เป็นบทเฉลยว่าที่ผีสัตว์ประหลาดโผล่มาหลอกหลอน เกิดจากการวาดรูปของเด็กประหลาดคนนั้น
ใน Season 4 ที่เอานักพากย์และดาราชาย 12 คนมาสวมบทเป็นลุงยามิชิไบในการเล่าเรื่องนั้น สำหรับตอนสุดท้าย คุณทสึดะ คันจิ ที่เป็นเสียงพากย์ต้นฉบับได้มาเล่าเรื่องแบบเต็มๆ ในตอนส่งท้ายนี้
ใน Season 5 มีการข้ามไตเติ้ลเปิดซีรีส์ เริ่มเรื่องทันที และมีลุงยามิชิไบโผล่มาตอนท้าย โดยชื่อตอนจะแสดงในฉากตัดจบ
ใน Season 6 เสียงลุงยามิชิไบเปิดเรื่องเป็นเสียงกระซิบ
ใน Season 9 เมื่อเล่าครบ 12 นักษัตร ตอนสุดท้ายเอา "ปีแมว" มาเล่าเรื่อง
และ Season 10 คุณลุงยามิชิไบโผล่เข้าฉากในช่วงท้ายตอน และในฉาก ED หน้ากากที่ถูกวางคว่ำกลับหงายขึ้น

 


ทั้งหมดนี่คือทั้ง 11 มุกและองค์ประกอบซ้ำๆ ที่ยามิชิไบเอามาใช้บ่อยๆ ที่มีลักษณะเด่นจนจำได้ จนถึงตรงนี้ ทำให้ผมคิดได้ว่า ใน Season 11 จะต้องมีอะไรสักอย่างที่เป็น "มุกใช้ซ้ำ" และอาจจะต่อยอดจากเหตุการณ์อะไรสักอย่างจาก Season ก่อนๆ ก็ได้

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้ยามิชิไบ "ทำซ้ำ" มากที่สุดคือ ความหลอนแบบสุดขีดเหมือน Season 1 แบบผีโผล่โครมๆ แล้วหลอนติดตา หลอนจิตตก กดประสาท ผีโผล่มาหลอกง่ายๆ แล้วหลอนไปหลายๆ วันแบบนี้เข้าใจง่ายดีครับ แต่อีกมุมหนึ่งที่ทำให้ยามิชิไบสนุกได้ก็คือ ความหลอนลึก หรือสอดแทรกข้อคิดสะท้อนสังคมที่ทำให้เอาไปตีความ เหมือนกับผมดูแล้วเอาไปตั้งกระทู้ตั้งแต่ Season ที่ 2 ที่ได้เห็นมุมมองอะไรกว้างขึ้น

จะว่าไปแล้ว เราลองกลับไปดูยามิชิไบทั้ง 130 ตอน แล้วจะสังเกตเห็น "มุกใช้ซ้ำ" อย่างที่ผมเรียบเรียงไว้แล้วลงในบล็อกนี้ และผมจะมาตั้งกระทู้พันทิปให้เรามาวิเคราะห์กันต่อใน Season 11 "อีกครั้ง" ครับ



ความคิดเห็น